สะพานฮาร์เบอร์ (Harbour Bridge)ประเทศออสเตรเลีย
- Admin
- 24 ก.ย. 2563
- ยาว 1 นาที
ฮาร์เบอร์บริดจ์ (Harbour Bridge) หรือที่คนซิดนีย์มักเรียกชื่อเล่นด้วยความรักใคร่ว่า “ไม้แขวนเสื้อ” (Coat hanger) เป็นสะพานโครงเหล็กที่มีช่วงกลางระหว่างตอม่อสองข้างยาวที่สุดในโลกที่ทอดยาวเชื่อมเมืองฝั่งเหนือและฝั่งใต้ของซิดนีย์เข้าหากัน
ฮาร์เบอร์บริดจ์ถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองซิดนีย์ก่อนที่จะมีการสร้างโอเปร่าเฮ้าส์ (Opera House) และแม้กระทั่งในปัจจุบันสะพานแห่งนี้ก็ยังเป็นที่จดจำและคุ้นตาชาวโลกเมื่อนึกถึงออสเตรเลีย โดยเฉพาะภาพของพลุอันงดงามที่ถูกจุดขึ้นเหนือน่านน้ำในอ่าวซิดซีย์และโค้งสะพานเหล็กขนาดมหึมาแห่งนี้ในคืนส่งท้ายปี

ประวัติการสร้างฮาร์เบอร์บริดจ์
ฮาร์เบอร์บริดจ์ใช้เวลาสร้างทั้งหมด 8 ปี โดยเปิดใช้ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1932 สะพานมีความยาว 1.15 กิโลเมตร สูง 134 เมตร เหล็กทั้งหมดที่ใช้สร้างสะพานหนักถึง 52,800 ตัน โดย 79% ของเหล็กที่ใช้สร้างนั้นนำเข้ามาจากอังกฤษ
ปัจจุบันฮาร์เบอร์บริดจ์ยังคงทำหน้าที่เป็นทางสัญจรที่เชื่อมเขตเมืองฝั่งเหนือและฝั่งใต้ของซิดนีย์เข้าหากัน โดยในแต่ละวันจะมีรถราใช้สะพานแห่งนี้ในการสัญจรเป็นจำนวนมากถึงประมาณ 180,000 คัน และในแต่ละปีนั้นต้องใช้งบประมาณในการทะนุบำรุงฮาร์เบอร์บริดจ์เป็นจำนวนเงินสูงถึง $18 เลยทีเดียว
ทั้งนี้ซิดนีย์ฮาร์เบอร์บริดยังเป็นสะพานเพียงหนึ่งในสองแห่งของออสเตรเลียที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถไต่ได้อย่างถูกกฎหมาย มีคนดังๆ จำนวนมากเคยไต่ฮาร์เบอร์บริดจ์มาแล้ว อาทิ จัสติน ทิมเบอร์เลค แมท เดมอน วิล สมิธ นิโคล คิดแมน คาเมรอน ดิอาซ และ ฯลฯ

การเดินทางจากสนามบินสู่ตัวเมือง
ซิดนีย์มีสนามบิน คือ ท่าอากาศยานนานาชาติซิดนีย์ คิงส์ฟอร์ด สมิธ (Sydney Kingsford Smith International Airport) เป็นท่าอากาศยานที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สนามบินอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางตอนใต้ 8 กิโลเมตร จากสนามบินนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าเมืองได้ทั้งโดยรถไฟ (Airport Link) ชัตเทิลบัส รถประจำทาง และแท็กซี่
- รถไฟ ราคา $18.5 ใช้เวลาประมาณ 15 นาที รถมาทุกๆ 15 – 20 นาที http://www.airportlink.com.au
- ชัตเทิลบัส ราคา $15 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 35 นาที รถออกทุกๆ 15-20 นาที https://airportconnect.com.au/
- รถประจำทาง สาย 400 วิ่งระหว่าง Bondi Junction และ Burwood นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นรถได้ที่เทอร์มินัล 1 อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และเทอร์มินอล 3 อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ https://transportnsw.info/#/
- แท็กซี่ ราคาประมาณ $45-55 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที นักท่องเที่ยวสามารถพบแท็กซี่ได้ที่ด้านหน้าของทุกเทอร์มินอล https://www.nswtaxi.org.au

การเดินทางไปฮาร์เบอร์บริดจ์
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปที่ฮาร์เบอร์บริดจ์ได้หลายเส้นทางและหลายวิธี แต่โดยทั่วไปเส้นทางที่สะดวกและเป็นที่นิยมกันก็คือการไปลงที่เซอร์คูลาร์คีย์ (Circular Quay) สถานีที่เรียกได้ว่าเป็นเซ็นเตอร์ของแลนด์มาร์คสำคัญต่างๆ ในละแวกนี้ รวมถึงโอเปร่าเฮ้าส์และย่านเดอะร็อคส์ (The Rocks)
- รถไฟ สาย T2 T3 ลงสถานี Circular Quay
- ประจำทาง สาย 301 302 303 373 374 377 500 507 515 518 520 M52 X03 ลงป้าย Circular Quay
- เฟอร์รี่ สาย F1-F7 ลงท่า Circular Quay
ระบบขนส่งสาธารณะที่นี่ไม่ว่าจะขึ้นรถไฟ รถประจำทาง หรือเฟอร์รี่ก็สามารถทำได้ด้วยบัตรโดยสารที่เรียกว่า Opal Card อย่างครบวงจรในบัตรเดียว ทั้งนี้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการเดินทางและเช็กรอบรถไฟ บัส และเฟอร์รี่แบบออนไลน์ได้ที่ https://transportnsw.info/#/ และสามารถเช็กรอบแบบเรียลไทม์ได้จากแอพพลิเคชันต่างๆ แอพพลิเคชั่นที่มีความแม่นยำและเป็นที่นิยมในใช้ซิดนีย์

ส่วนทางเดินขึ้นสะพานยักษ์แห่งนี้ หากเดินมาจากเซอร์คูลาร์คีย์ หรือเดอะร็อคส์ (The Rocks) ก็เพียงแต่มองหาชื่อถนนคัมเบอร์แลนด์ (Cumberland Street) ให้เจอ เมื่อเจอแล้ว จุดสังเกตคือตรงทางเข้าจะมีลักษณะเหมือนหอคอยหรือป้อมปราการเก่าๆ สูงประมาณ 3 ชั้น ที่นี่มี จุดชมวิวชื่อPylon Lookout และมีทางเข้าทางเดินเชื่อมต่อของทั้งสองฟากฝั่งสะพานให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินข้ามได้

เวลาทำการเปิด – ปิด
เนื่องจากฮาร์เบอร์บริดเป็นสถานที่สัญจรสาธารณะ จึงเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ในบางช่วงอาจมีการปิดสะพานเพื่อจัดกิจกรรมบางอย่าง เช่น การวิ่งมาราธอน ฉะนั้น นักท่องเที่ยวควรตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งในช่วงเดินทาง
อัตราค่าเข้าชม
การเดินข้ามสะพานไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากต้องการชมวิวที่จุดชมวิว Pylon Lookout จะมีค่าตั๋ว $15 และทัวร์ไต่โครงเหล็กสะพาน (Bridge Climb) ค่าตั๋วเริ่มต้นที่ประมาณ $163
เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเที่ยวชมฮาร์เบอร์บริดจ์ได้ตลอดทั้งปี โดยในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายนที่นครซิดนีย์จะมีการจัดเทศกาล Vivid Sydney ซึ่งเป็นเทศกาลแสดงไฟแบบ Outdoor ประจำปีที่งดงามและสร้างสรรค์ซึ่งหลายๆ ที่บริเวณใกล้เคียงกับฮาร์เบอร์บริดจ์ก็เป็นจุดสำคัญที่จัดแสดงไฟ ช่วงนี้จึงเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่เหมาะแก่การเดินเล่นชมไฟสวยๆ ยามค่ำคืนเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ วันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี บริเวณฮาร์เบอร์บริดจ์ รวมถึงโอเปร่าเฮ้าส์ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกนิยมไปจับจองพื้นที่เพื่อร่วมบันทึกช่วงเวลาประทับใจแห่งคืนสิ้นปี โดยนักท่องเที่ยวควรตรวจสอบข้อมูลเพื่อความแน่ใจอีกครั้งว่าช่วงเวลาดังกล่าวปิดการสัญจรบนสะพานหรือไม่หากต้องการเดินข้าม
ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่อากาศแจ่มใสและอุณหภูมิไม่หนาวจัดหรือร้อนจัดจนเกินไปนั้นอยู่ในช่วงฤดูใบใม้ร่วง (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม) และฤดูใบไม้ผลิ (เดือนกันยายน-ตุลาคม) ส่วนการทัวร์ไต่สะพานนั้นมีให้บริการทุกวัน ทุกสภาพอากาศ ด้วยอุปกรณ์ที่พร้อมสร้างความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวตามเงื่อนไขของสภาพอากาศในแต่ละวัน แต่หากมีพายุหรือลมแรงก็อาจจะมีการเลื่อนเวลาออกไปตามความเหมาะสม

ข้อมูลทั่วไปที่ควรรู้
สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะใช้บริการไต่สะพานควรใส่เสื้อผ้าที่สวมใส่สบายมาเนื่องจากต้องใส่ชุดเฉพาะที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้อีกครั้ง โดยจะเป็นชุดที่มีห่วงคล้องตัวติดไว้กับราวตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัย สิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องเตรียมให้พร้อมคือรองเท้าที่เดินสบาย เช่น รองเท้าวิ่ง รองเท้ากีฬา หรือรองเท้าเดินป่า รวมถึงแว่นกันแดด
ขณะทัวร์ไต่สะพานจะไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวนำกล้องหรือสัมภาระขึ้นไป เพื่อป้องกันสิ่งของที่อาจร่วงลงไป (มีที่ให้ฝาก) และเพื่อความสะดวก ปลอดภัยของตัวนักท่องเที่ยวเอง ทั้งนี้จะมีช่างภาพที่คอยบันทึกภาพให้แก่นักท่องเที่ยวระหว่างไต่สะพานนักท่องเที่ยวที่กลัวความสูงหรือเป็นโรคหัวใจควรพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจจองทัวร์นี้
Bình luận